การตลาดและทำคอนเทนท์ยังไงให้เวิร์คในปี 2020
เพื่ออัปเดตเทรนด์การทำการตลาด และคอนเทนท์ดิจิทัลในปี 2020 สมาคมผู้ดูแลเว็บไทยได้จัดงานจิบกาแฟคนทำเว็บ ในหัวข้อ “Digital & Content Marketing Trend 2020” โดยได้รับการสนับสนุนสถานที่จัดงานจากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด
งานเสวนาครั้งนี้ดำเนินรายการโดย คุณสุธีรพันธุ์ สักรวัตร กรรมการสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย และ EVP Marketing Function ธนาคารไทยพาณิชย์ โดยวิทยากรที่มาร่วมแบ่งปันมุมมองในงานนี้ประกอบด้วย
- คุณอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ผู้ร่วมก่อตั้งแพลทฟอร์ม 77ข่าวเด็ด และ Business Today องค์กรสื่อสมัยใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นในวันที่องค์กรสื่อดั้งเดิมถูก disrupt อย่างรุนแรง
- คุณประพัทธ์ ปฐมชัยวิวัฒน์ Digital Creative Chapter Lead บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) แบรนด์อสังหาฯ แรกๆ ในไทยที่บุกเบิกการทำการตลาดออนไลน์ และประสบความสำเร็จอย่างสูง
- คุณพลกฤษณ์ คุ้มปลี Content Creator เจ้าของยูเซอร์ @Sommarkz ที่เคยทำคอนเทนท์ปังๆ ระดับประเทศมาหลายตัว และกำลังบุกเบิกการทำคอนเทนท์สร้างสรรค์บน Tik Tok
การเปลี่ยนแปลงการทำคอนเทนท์และการตลาดในอดีตจนถึงปัจจุบัน
คุณอดิศักดิ์ (ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) และกรรมการบริหารเนชั่นกรุ๊ป) เล่าให้ฟังว่าเนชั่นเป็นองค์กรสื่อองค์กรแรกที่พยายามจะ transform ตัวเอง ถ้ายังจำกันได้เนชั่นเป็นองค์กรแรกที่บังคับให้นักข่าวเขียน blog รวมถึงเล่น Twitter แต่การจะเปลี่ยนแปลงองค์กรสื่อขนาดใหญ่ให้สำเร็จนั้นยากมาก ในมุมมองของคุณอดิศักดิ์เห็นว่าเนชันเองก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงธุรกิจได้ดีพอกับกระแส disruption ที่ถาโถมเข้ามา และถ้ามองไปที่เพื่อนๆ ในอุตสาหกรรมสื่อ ก็มีน้อยมากที่สามารถเปลี่ยนแปลงและอยู่รอดได้
เมื่อคุณอดิศักดิ์เริ่มธุรกิจใหม่ ด้วยประสบการณ์จึงมองเห็นโอกาสในการทำสื่อสมัยใหม่ โดยวางพื้นฐานให้ Business Today เป็น O2O (Online to Offline) ตั้งแต่วันแรก มีหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ด้วยไม่ได้ทำแค่ออนไลน์อย่างเดียว เพื่อสร้างความแตกต่างจากสื่อออนไลน์อื่นๆ เพราะมาทีหลัง และเลือกทำเนื้อหาเป็นข่าวธุรกิจ เพราะข่าวธุรกิจมีความหลากหลายเพียงพอ และในการจะทำข่าวธุรกิจได้ต้องมีประสบการณ์ มีความน่าเชื่อถือ ไม่เหมือนข่าวทั่วไปที่ใครๆ ก็ผลิตได้
โดยหลักสำคัญที่ Business Today ใช้คือ การทำข่าวออนไลน์ให้เวิร์ค ไม่ใช่แค่การเอาเนื้อหาจากออฟไลน์ย้ายมาอยู่บนออนไลน์ และในทางกลับกันก็ไม่เอาเนื้อหาออนไลน์ไปลงออฟไลน์ตรงๆ เพราะธรรมชาติและจุดเด่นของแต่ละสื่อมีความแตกต่างกัน จะไม่ใช้เนื้อหาซ้ำกัน สำหรับเนื้อหาที่อยู่บนออนไลน์ จะเป็นข่าวทั่วไป ข่าวประจำวัน ในขณะที่เนื้อหาบนหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ จะไม่ใช่ข่าวเพราะไม่มีทางทำข่าวได้สดใหม่เท่าสื่อออนไลน์ แต่เป็นสรุป, เน้นการนำเสนอแบบ Infographic และบางเนื้อหาที่สำคัญก็อาจจะเอากลับไปทำเป็นโมชัน หรือสื่อในรูปแบบอื่นๆ ขึ้นออนไลน์อีกครั้งหลังจากที่หนังสือพิมพ์ออกแล้ว ซึ่งแตกต่างจากสื่อค่ายอื่นที่ใช้ข่าวเดียวกันทั้งออนไลน์และออฟไลน์
คุณประพัทธ์เล่าว่าโตมาในยุคที่โฆษณาทีวีรุ่งเรืองมาก ในวันที่เรียนจบนิเทศศาสตร์เมื่อปี 2006 เป็นยุคที่ออนไลน์เริ่มมา จึงเบนสายมาหัดทำเว็บ เขียน HTML และ Flash ในยุคนั้น และเริ่มงานใน digital agency ซึ่งในยุคนั้นแบรนด์ก็มองว่างานออนไลน์เป็นเงินทอน คือลงงบไปที่สื่อหลักก่อน เหลือเงินค่อยเอามาลงออนไลน์ โดยในการทำตลาดออนไลน์ยุคแรกมีแค่การทำเว็บ, ทำโฆษณาแบนเนอร์ และ email marketing ในขณะที่ยุคต่อมาซึ่งคุณประพัทธ์เรียกว่ายุค engagement คือยุคที่ทุกคนเน้นการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคโดยใช้การวัดผลและตัวเลขสถิติต่างๆ เช่นยอดวิวของวีดีโอ, ยอดเอนเกจ, ยอดไลค์ต่างๆ เป็นยุคที่การทำไวรัลวีดีโอแพร่หลายมาก
แต่เมื่อมี e-commerce เข้ามา คนสามารถดูโฆษณา หรือคอนเทนท์แล้วซื้อสินค้าได้ทันทีบนออนไลน์ จึงทำให้ปลายทางการวัดผลของการทำการตลาดออนไลน์ไม่ได้จบแค่ตัวเลขสถิติต่างๆ แต่ต้องจบที่ conversion เช่นเกิดการซื้อสินค้า หรือในกรณีของแสนสิริคือการลงทะเบียนเพื่อเข้าชมโครงการ ซึ่งในยุคนี้โจทย์ของแบรนด์คือ เมื่อมีการโฆษณา ต้องเกิดยอดขาย วิธีการสร้างคอนเทนท์ที่จะทำให้เกิด conversion ได้ก็จะเปลี่ยนแปลงไปจากสมัยก่อน ตัวอย่างเช่น การทำวีดีโอหรือคอนเทนท์เพื่อสร้าง awareness อาจจะไม่ได้เป็นไวรัลวีดีโอยาวๆ เหมือนยุคที่ต้องการ engagement แล้ว แต่จะมีการ targeting ที่ชัดขึ้นให้กลุ่มเป้าหมายเห็นโฆษณาตัวยาวที่ถูกตัดมาแค่จุดขายสั้นๆ ให้ตรงกับพฤติกรรมบน platform ต่างๆ แล้ว retargeting เพื่อ remind หลายๆ ครั้งจนเกิดความสนใจและคลิ้กเข้าไปดูจนเกิด conversion ในที่สุด
คุณพลกฤษณ์ คุ้มปลี หรือ @Sommarkz เล่าให้ฟังว่าเริ่มทำคอนเทนท์แรกเมื่อตอนฝึกงาน เกิดจากปัญหาของตัวเองว่าเข้าเซเว่นแล้วไม่รู้จะกินอะไร และด้วยความที่ตัวเองเป็นเด็กหอจึงเกิดเป็นคอนเทนท์ “30 วัน 30 เมนู ผมลองผสมของกินใน 7-11 บางอันไม่น่าเชื่อ” ซึ่งเริ่มจากโพสท์ต่อเนื่อง 30 วันลงเฟซบุคส่วนตัวก่อน แล้วจึงรวมทั้งหมดไปโพสท์ลง Pantip ซึ่งไม่น่าเชื่อว่ากระทู้นี้ถูกแชร์ไปมากกว่า 40,000 แชร์
เมื่อวันที่เรียนจบ ก็ทำคอนเทนท์เพื่อชวนเพื่อนมางานรับปริญญา โดยได้ไอเดียจากการเห็นเพื่อนเอาชุดครุยไปถ่ายรูปรับปริญญาที่ต่างประเทศ หรือไปถ่ายในที่ต่างๆ เลยเกิดเป็นคอนเทนท์ “เรียนจบแล้วไปไหนก็ได้” โดยใช้กรีนสกรีนถ่ายรูปตัวเองใส่ชุดครุยที่ห้อง แล้วตัดต่อไปอยู่ในสถานที่ต่างๆ และเมื่อลงในเฟซบุคส่วนตัวแล้วก็รวบรวมมาลง Pantip เหมือนเดิม
ในปัจจุบัน @Sommarkz ทำคอนเทนท์บนเฟซบุคเป็นหลัก และเมื่อกลางปีที่แล้วเห็นข่าวว่าแพลตฟอร์ม Tik Tok กำลังมา จึงทดลองเข้ามาทำคอนเทนท์บน Tik Tok และพบว่าเป็นแพลตฟอร์มที่มีโอกาสเติบโตสูง เพราะมีผู้ใช้เยอะ แต่ยังมีครีเอเตอร์น้อย
ปี 2020 ทำคอนเทนท์ยังไงเวิร์ค?
คุณประพัทธ์มองว่าแต่ละแพลตฟอร์มมีบทบาทแตกต่างกัน ยกตัวอย่างธุรกิจอสังหาฯ ไม่ว่าจะโฆษณาในรูปแบบไหน ก็จะพาคนไปลงทะเบียน เพราะกระบวนการตัดสินใจซื้ออสังหาฯจะใช้เวลามากกว่าสินค้าชนิดอื่น การจะปิดการขายบ้านหรือคอนโดได้อาจจะต้องใช้การคุยกับเซลส์ที่มีความสามารถในการจูงใจมากกว่า ซึ่งความท้าทายคือ โดยธรรมชาติผู้บริโภคไม่ชอบกรอกข้อมูลตัวเองลงในแบบฟอร์ม หลายๆ ครั้งเมื่อเกิดความสนใจก็อาจจะไปที่โครงการเลยโดยไม่ลงทะเบียน ทำให้การวัดผลที่ชัดเจนนั้นทำได้ยาก
การทำงานจึงเริ่มจากทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย และเข้าใจ customer journey ตั้งแต่เข้าใจว่ากลุ่มเป้าหมายที่เริ่มมีความคิดที่จะซื้อบ้านเป็นใคร ใช้ชีวิตอยู่ที่ไหน โดยเข้าไปสื่อสารในทุกจุดที่กลุ่มเป้าหมายมี engagement ด้วย ในปัจจุบันที่ใช้มากที่สุดคือ Facebook เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่คนไทยนิยมและที่คลิ้กมาที่เว็บได้ง่าย ซึ่งหน้าที่ของเว็บของแสนสิริต้องทำให้คนลงทะเบียนให้ได้ ดังนั้นจึงปรับเว็บให้มีข้อมูลให้มากที่สุด เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป มีการหาข้อมูลด้วยตัวเองเยอะขึ้น เมื่อไปถึง sales gallery บางครั้งอาจจะมีข้อมูลมากกว่าเซลส์ที่โครงการแล้ว ดังนั้นแสนสิริจึงให้ข้อมูลบนเว็บให้มากที่สุดเท่าที่จะมีได้ เพื่อให้ลูกค้าสามารถตัดสินใจได้ และตัดสินใจลงทะเบียนเพื่อนัดเข้าชมโครงการ ซึ่งต่างจากในอดีตที่หลายๆ บริษัทไม่ให้ข้อมูลบนเว็บเพราะอาจกลัวคู่แข่ง
คุณอดิศักดิ์เล่าว่านอกจากทำ Business Today แล้ว ยังได้ทดลองทำแพลตฟอร์ม 77Kaoded โดยเป็นข่าวภูมิภาคที่นักข่าวแต่่ละจังหวัดบริหารจัดการข่าวเองแบบ decentralized ไม่พึ่งพาส่วนกลาง เพื่อต้องการแก้ปัญหาของข่าวในปัจจุบันที่บนสื่อหลักทุกช่องจะเห็นข่าวเหมือนๆ กัน แต่ในความเป็นจริงมีนักข่าวต่างจังหวัดที่ทำข่าวจำนวนมาก แต่ส่งข่าวมาที่ส่วนกลางแล้วกว่า 80% ไม่ถูกเลือกมาใช้ โดยเว็บ 77Kaoded.com เปิดโอกาสให้นักข่าวมาลงทะเบียนและลงข่าวของจังหวัดตัวเองได้เลย
สำหรับกลวิธีที่จะทำให้ข่าวถูกต้องเชื่อถือได้ คือนักข่าวต้องมีตัวตน มีการยืนยันตัวตนด้วยการส่งสำเนาบัตรประชาชน และบนเว็บไซต์ต้องมีชื่อ-นามสกุล ของนักข่าวชัดเจน โดยในปัจจุบันมีการทดลองแบ่งรายได้โฆษณา โดยจ่ายตามจำนวนวิวของข่าว
คุณอดิศักดิ์เล่าว่าข่าวที่เวิร์คบนระบบ ไม่ใช่ breaking news แต่เป็น evergreen content (ข่าวที่อ่านได้ตลอด และมีคนค้นหาเจอได้เรื่อยๆ) เช่น ข่าวเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยว รีวิวร้านอาหาร เป็นต้น
คอนเทนท์ยาวหรือสั้น ในปี 2020
คุณอดิศักดิ์แชร์ว่าคอนเทนท์ยาวๆ (long form) ก็ยังสำเร็จได้ โดยยกตัวอย่าง The People ซึ่งเป็นทีมที่เคยทำคอลัมน์จุดประกายที่เนชันมาก่อน เมื่อมาทำ The People ก็ยังมีความเชื่อในคอนเทนท์ที่ยาว โดยมีแนวทางชัดเจนว่าทำเรื่องราวเกี่ยวกับโปรไฟล์ของคนที่เก็บเป็น archive สามารถค้นหาได้ตลอด (evergreen content) ในขณะเดียวกันคอนเทนท์เรื่องราวของบุคคลก็เป็นคอนเทนท์ที่คนนิยมแชร์กันบนเฟซบุคด้วย โดยมี business model คือ การเขียน advertorial ที่เป็นเรื่องของคน หรือ business profile ซึ่งเมื่อเขียนแล้วเก็บไว้อยู่บนเว็บไซต์ตลอด ค้นหาย้อนหลังได้ หรืออัพเดตข้อมูลให้ทันสมัยได้ บริษัทต่างๆ ก็อยากให้ The People มาเขียนโพรไฟล์ให้ สำหรับเคสของ The People นี้แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เคยประสบความสำเร็จในอดีต ถ้าสามารถหาที่ทางที่ถูกต้อง ก็สามารถประสบความสำเร็จในยุคดิจิทัลได้
@sommarkz ให้ความเห็นว่าในปัจจุบันคนไม่ค่อยโพสท์เรื่องราวชีวิตลงเฟซบุคแล้ว บนหน้าฟีดมีแต่แชร์ข่าว แต่คนไปโพสท์ชีวิตลงที่ Story มากกว่า ไม่ว่าจะเป็น Story ของเฟซบุค หรืออินสตาแกรม ซึ่งปัจจัยที่ทำให้คนนิยมเพราะคอนเทนท์ที่ Story ทำได้ง่าย ไม่ต้องประณีตมาก ในขณะที่จะโพสท์รูปลงอินสตาแกรมแต่ละทีก็ต้องมีภาพที่สวย หรือจะโพสท์อะไรลงเฟซบุคทีก็ต้องคิดดีๆ เพราะก็มีเพื่อนเป็นเจ้านายด้วย
เทรนด์ของโลกยุคนี้มาทางวีดีโอไม่ว่าจะสั้นหรือยาว ซึ่ง Story ของ Facebook, Instagram, และ Youtube ก็ถือเป็นวีดีโอสั้นเช่นเดียวกัน โดยข้อดีของการทำวีดีโอสั้นในรูปแบบ Story คือ ผู้ชมก็ไม่ได้คาดหวังว่าชิ้นงานต้องเพอเฟค ทำให้ผลิตคอนเทนท์ออกมาได้ไว และ engage กับแฟนได้บ่อยขึ้น เมื่อเทียบกับการผลิตวีดีโอปกติลง Youtube ที่ต้องมีกระบวนการการผลิตทีใช้เวลานานกว่า
สำหรับ Tik Tok เป็นแพลตฟอร์มวีดีโอสั้น ที่มีความยาวน้อยกว่า 60 วินาที ในปี 2019 มีผู้ใช้มากกว่า 500 ล้านคน และผู้ใช้กว่าครึ่งเป็นเด็กวัยรุ่น ในขณะที่ผู้ใช้ใช้เวลากับ Tik Tok เฉลี่ยวันละ 52 นาที แต่คอนเทนท์แต่ละชิ้นสั้นมากๆ ทำให้วันๆ หนึ่งผู้ใช้เสพย์คอนเทนท์ปริมาณเยอะมาก โดย @sommarkz ให้ความเห็นว่า Tik Tok ในประเทศอื่นๆ เริ่มมีคอนเทนท์ที่ดีๆ เยอะแล้ว แต่ในไทยเองยังมีน้อยอยู่ จึงเป็นโอกาสที่ดีของครีเอเตอร์ที่จะเข้าไปผลิตคอนเทนท์
สำหรับแบรนด์นอกจากจะเข้ามาเปิดแอคเคาท์ และผลิตคอนเทนท์บนแพลตฟอร์ม ก็ยังสามารถทำแคมเปญได้โดยที่ไม่ต้องเปิดแอคเคาท์ด้วยการซื้อ Hashtag Challenge เพื่อให้ผู้ใช้เข้ามาทำวีดีโอในหัวข้อที่ต้องการ เช่นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา 7-11 ก็มี Hashtag #งดใช้ถุงพลาสติก ให้คนออกไอเดียใช้สิ่งของทดแทนการใช้ถุงพลาสติก ซึ่งก็มีคนสนใจเข้ามาผลิตคอนเทนท์จำนวนมาก มี video view รวมเยอะ, และคนได้มี engagement กับแบรนด์ได้
การใช้ Influencer ยังเวิร์คอยู่ไหม
ในมุมมองของคุณประพัทธ์ มองว่า influencer ยังเวิร์คเพราะธรรมชาติของคนไม่ชอบการรบกวนของโฆษณาที่รุกเข้าไปในทุกจุด และผู้บริโภคเองก็เริ่มมีสิทธิในการ skip ad ในบาง platform ในขณะที่การสื่อสารโดยแบรนด์เองจะพูดถึงแต่ข้อดีของแบรนด์เท่านั้น แต่ influencer จะมีความเป็นมนุษย์ที่ดูเข้าถึงได้ง่ายกว่า และผู้บริโภคก็เป็นคนเลือกติดตาม คอนเทนท์ จาก influencer เอง คนจึงพร้อมเปิดใจฟังมากกว่า ซึ่งเมื่อผู้ฟังได้ฟังเนื้อหาแล้ว อาจจะตรงใจหรือไม่ตรงใจก็ถือว่าแบรนด์ได้สื่อสารเมสเสจออกไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้แล้ว
คุณสุธีรพันธุ์ สรุปประเด็นนี้ว่าอย่าแปลคำว่า influencer ว่าคือผู้ที่สามารถโน้มน้าวใจได้ แต่คือ information provider หรือผู้ให้ข้อมูลมากกว่า
คำแนะนำสำหรับ influencer ในปี 2020
@Sommarkz แบ่งปันแนวทางการทำงานว่า influencer ต้องมีตัวตนชัดเจน คนดูรู้ว่าเราเป็นใครตรงกับเขายังไง และดูแล้วจะได้ประโยชน์อะไร ในขณะเดียวกันแบรนด์ก็จะเห็นภาพชัดว่าครีเอเตอร์คนนี้มีตัวตนอย่างนี้เหมาะกับสินค้าแบบไหน และสามารถขายของแบบไหนได้ ซึ่งก็จะเป็นโอกาสที่ทำให้ครีเอเตอร์สามารถร่วมงานกับแบรนด์
โดยตนเองแม้ช่วงแรกที่เริ่มทำคอนเทนท์จริงจังจะเริ่มจากการเป็น game caster แต่กลุ่มแฟนก็โตขึ้น และมีความสนใจที่เปลี่ยนไปได้ ดังนั้นแม้จะรักษาตัวตนเดิม แต่คอนเทนท์ที่พูดถึงสามารถเปลี่ยนได้ สามารถทำเนื้อหาที่กว้างขึ้นและมีไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายขึ้นได้ และแนะนำว่าให้ทำเรื่องที่อินมากๆ จะเล่าออกมาได้ดี และมีคอนเทนท์ออกมาได้เรื่อยๆ และเมื่อทำคอนเทนท์ออกมาบ่อยๆ ตัวตนของเราก็จะชัดขึ้น และมีแบรนด์ติดต่อเข้ามามากขึ้น โดยตัวตนของ @Sommarkz คือ คนที่เอาชีวิตประจำวันมามองในมุมที่ตลก เช่นเล่าเรื่องกินข้าว รับปริญญา และเล่นเกม
เกณฑ์ที่แบรนด์และเอเจนซีใช้เลือก influencer
คุณสุธีรพันธุ์แชร์ว่านอกจากจะดูสถิติตัวเลขจาก tool ต่างๆ ก็พิจารณาจากคอนเทนท์ที่ influencer เคยสร้างว่าเป็นแนวที่เราอยากได้หรือไม่ เป็นคอนเทนท์ที่อยากให้แบรนด์เราไปปรากฎหรือเปล่า ตัวอย่างเช่นแคมเปญของบัตร Travel Card ของ SCB ใช้ blogger 70-80 คน ในการเลือก influencer ก็ไม่จำเป็นต้องเป็น influencer ที่มีผู้ติดตามมากเป็นอันดับหนึ่ง แต่ดูว่าคอนเทนท์ของเขาสวยหรือเปล่า ภาษาเป็นยังไงบ้าง
ในการเลือก influencer มี 2 มิติ มิติแรกคือมอง influencer เป็นมีเดียที่นำโปรดักท์เราไปคอนเนคกับลูกค้า เพื่อสร้างการมองเห็นของโปรดักท์ มิติที่สองคือ การจ้าง Influencer เพราะต้องการคอนเทนท์จากเขา เหมือนกับการจ้างเอเจนซีหรือโปรดักชันเฮาส์ผลิตคอนเทนท์ให้ ซึ่งในกรณีนี้ influencer ไม่จำเป็นต้องมีผู้ติดตามเยอะ แต่มีคุณภาพดี ถึงแม้มีผู้ติดตามแค่หลักพันก็สามารถจ้างได้ เพราะคอนเทนท์มีคุณภาพดีมาก ซึ่งในแต่ละแคมเปญก็จะมีการเลือกใช้ influencer ทั้ง 2 แบบให้สมดุลกัน เลือก influencer ที่มีผู้ติดตามหลักล้านเพื่อสร้าง awareness และเลือก influencer ที่มีผู้ติดตามหลักพันที่คอนเทนท์มีคุณภาพดี
ดังนั้น Influencer ต้องเลือกว่าอยากเป็น Influencer แนวนี้ ถ้าอยากเป็น Influencer ที่มีฐานผู้ติดตามเยอะ ก็ต้องใช้เวลาในการสร้างฐานผู้ติดตามเยอะ แต่ถ้าอยากเป็น Influencer ที่มีคาแรคเตอร์ชัดเจน คอนเทนท์ขายของได้ ขายของเก่ง อาจจะมีผู้ติดตามเยอะ ก็สามารถทำได้
สุดท้ายนี้ทางสมาคมผู้ดูแลเว็บไทยขอขอบคุณวิทยากรทั้ง 3 ท่าน, ผู้ดำเนินรายการ, สมาชิกที่เข้าร่วมงาน และบริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) ที่เอื้อเฟือสถานที่ในการจัดงาน และสมาชิกสามารถติดตามข่าวการจัดงานครั้งต่อไปได้ที่เว็บไซต์ของสมาคม และแฟนเพจสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย
สรุปเนื้อหาโดย
วโรรส โรจนะ
นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย
ผู้ร่วมก่อตั้ง Dek-D.COM