ด้วยสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เว็บไซต์และช่องทางออนไลน์กลายเป็นช่องทางสำคัญในการทำการตลาด นอกจากนี้ผู้บริโภคก็ใช้เวลากับสื่อออนไลน์มากขึ้นมาก และมีรูปแบบการใช้งานที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ที่ปรับตัวให้ธุรกิจหรือบริการสอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้งานแบบใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
เพื่ออัปเดตเทรนด์ในการพัฒนาเว็บไซต์ และดิจิทัลคอนเทนท์ในปี 2021 สมาคมผู้ดูแลเว็บไทยขอสรุปประเด็นที่คนทำเว็บต้องรู้ แยกเป็น 4 สาขา ดังนี้
Web Programming
เตรียมพร้อมรับมือ Performance & Privacy
วรัทธน์ วงศ์มณีกิจ
Chief Product Officer
WISESIGHT (Thailand) Co.,Ltd
ในปี 2021 นี้น่าจะเป็นปีที่กระทบคนที่ทำเว็บมากๆ ปีนึง ในปีที่ผ่านๆมา การเปลี่ยนแปลงของเว็บ มักเป็นแค่การเพิ่มสิ่งใหม่ๆ อย่างการเชื่อมต่อ Hardware หรือ Progressive web app ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นของเล่นก็ว่าได้ โดยคนทำเว็บเดิมๆก็ไม่ได้รับผลกระทบอะไรมาก เพียงแค่มีของใหม่ๆ ให้ลองใช้ แต่ในปีนี้การเปลี่ยนแปลงในฝั่ง Web platform กลายเป็นเรื่อง Privacy และ Performance ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทบกับเว็บที่มีอยู่แล้วโดยตรง มาดูกันดีกว่าว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่เราต้องอัพเดท สำหรับการทำเว็บในปี 2021
Web Vital
ในช่วงกลางปี 2020 Google ได้ปรับวิธีการวัด performance ของเว็บจากการใช้มาตรฐาน Lighthouse v5 มาเป็น Lighthouse v6 โดยใจความของ Lighthouse v6 คือ กลุ่ม ตัวจับวัดใหม่ที่มีชื่อ ว่า Web vital โดย Web vital นั้นประกอบด้วยตัวชี้วัด 3 ตัวด้วยกันคือ
- Largest Contentful Paint (LCP) คือ ระยะเวลาของ ส่วนที่ใหญ่ที่สุดของหน้าเว็บแสดงผล ซึ่งควรมีใช้เวลาไม่มากกว่า 2.5 วินาที
- First Input Delay (FID) ระยะเวลาที่ หน่วงก่อนการเกิด input แรกของ website ซึ่งควรใช้เวลาไม่เกิน 0.1 วินาที
- Cumulative Layout Shift (CLS) ระยะเวลาที่การขยับขององค์ประกอบบนหน้าเว็บจบลงซึ่งควรใช้เวลาไม่กิน 0.1 วินาที
ด้วยการเปลี่ยนแปลงนี้อาจจะส่งผมให้คนที่เคย Optimize เว็บไซต์ ไว้แล้วได้คะแนนสูงๆอาจจะมีคะแนนตกลงก็ได้ หรือ คนที่เคยได้คะแนนต่ำอาจจะมีคะแนนที่สูงขึ้นในเวลาเดียวกัน หากใครต้องการจะรู้ว่าแต่ละตัวชีวัดจะต้อง Optimize อย่างไร สามารถไปอ่านบล็อกที่ Google เขียนไว้ได้ที่นี่ https://web.dev/vitals/
Privacy on web
ปีนี้เป็นปีที่เรื่องความเป็นส่วนตัวบน Web Browser พูดให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนแปลง Cross Site Cookie ที่เริ่มไม่อนุญาตให้ส่ง Cookie ไปยัง Domain อืนได้ โดยถ้าหาเว็บไซต์จะยอมให้ Cookie สามารถใช้ข้ามไปยัง เว็บไซต์อื่นได้ ผู้พัฒนาต้องทำการกำหนดค่าเอง ในศัพท์เทคนิคแล้วเราเรียกสิ่งๆนี้ว่า SameSite cookies ซึ่ง ถ้าหาก ว่าเราต้องการให้ Cookie ส่งไปยังเว็บไซต์อื่นได้ เราต้องกำหนดค่า SameSite ใน Cookie เป็น None หรือ กำหนดเป็น Strict ในกรณ๊ที่ไม่ต้องการให้ส่ง cookie ออกไป มากกว่านั้น Safari เองก็มีท่าทีที่จะปกป้อง ที่จะช่วยให้การ track event จาก app มายังเว็บ มีความปลอดภัยมากขึ้น ทำให้การทำเว็บที่ต้องพึ่ง cookie จาก เว็บไซต์อื่นๆน่าจะทำได้ยากขึ้น รวมถึง notification ที่ได้รับความนิยมมากๆในปีที่แล้ว ปีนี้ Google Chrome เริ่มปิด feature นี้ในเว็บไซต์ที่ user เลือกจะไม่รับ notification บ่อยๆแล้ว ทำให้การส่ง push notificaiton น่าจะทำได้ยากขึ้นในอนาคต
Web Design
เข้าใจกลุ่มเป้าหมาย – เปิดรับเทคโนโลยีใหม่ – ทดสอบการใช้งาน
อินทนนท์ ปัญญาโสภา
Cofounder
Grappik, Grappik Digital
ในปี 2021 – 2020 อัตราการเติบโตของผู้ใช้งานเว็บไซต์ในไทยเติบโตเป็นอย่างมาก ซึ่งสืบเนื่องมาจากปัญหาโคโรน่าไวรัส 2019 ที่บังคับให้ทุกคนต้องหันมาใช้ Digital Platform เพื่อลดปัญหาการพบปะและการติดต่อกันในชีวิตประจำวันแบบเดิม
การเติบโตอย่างรวดเร็วทำให้เกิดผู้ใช้ใหม่ในทุกช่วงอายุ จากที่แต่เดิมมีช่วงอายุของผู้ใช้งาน Digital Platform จะอยู่ในช่วง Gen X และ Y กันเป็นส่วนมาก ปัจจุบันไม่ว่าใครก็ต้องพึ่งพา Digital Platform ในการดำเนินชีวิตแทบทุกวัน
เทรนด์การออกแบบในอนาคตเราไม่อาจจะเจาะจงไปได้ว่าตัวงานควรจะใช้ฟอนต์แบบไหน สีสันอะไร ทุกอย่างล้วนเปลี่ยนไปตามบริษัทของผู้ใช้งานหรือกลุ้มเป้าหมาย เพราะสุดท้ายนักออกแบบก็จะต้องออกแบบ Product ของตัวเองให้เข้ากับตัวผู้ใช้งานให้ได้ แต่ถ้าจะแบ่งเป็นเทรนด์ก็จะสามารถสรุปแบบกว้างๆได้ดังนี้
- ก่อนเริ่มออกแบบควรเริ่มจากผู้ใช้ ในสมัยก่อนการออกแบบเราอาจจะไปเน้นที่เรื่องความสวยงามและเอกลักษณ์เป็นหลัก แต่ในปัจจุบันเมื่อมี Platform ต่างๆเกิดขึ้นมากมาย ความรวดเร็วในการเสริฟข้อมูลตามความต้องการนั้นคือเรื่องสำคัญ คิดแทนผู้ใช้ว่าเค้าต้องการอะไรและจัดเสริฟไปให้โดยเร็วที่สุด
- Back to Basic การออกแบบเราควรมองย้อนกลับมาว่า เราออกแบบไปเพื่ออะไร ให้ใคร และทำยังไงให้คนเข้าใจได้รวดเร็ว ปัจจุบันมีเว็บไซต์เกิดขึ้นต่อวันหลายพันหลายหมื่น รวมถึงคู่แข่งที่ในปัจจุบันการออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ทำได้ง่ายและราคาถูกลงเป็นอย่างมาก บางครั้งการออกแบบให้สวยดึงดูดก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ที่สำคัญที่สุดคือการสร้างความเข้าใจใน First Impression โดยที่ไม่ต้องเน้นไปที่งานออกแบบ แต่อาจจะเน้นไปที่เรื่องการเขียน Headline ให้เข้าในน่าเชื่อถือ หรือ การเสริฟข้อมูลให้ได้ตามความต้องการของผู้ใช้งานก็อาจจะเพียงพอแล้ว
- ขอต้อนรับเข้าสู่ยุคของ VDO ถ้าหากคุณเขียนไม่เก่ง เราอยากให้ลองนำวีดีโอมาประกอบใน Digital Platform สังเกตเว็บไซต์ในปัจจุบัน VDO มักจะอยู่ในส่วนบนของหน้าแรกเสมอ เพราะพฤติกรรมของผู้ใช้งานเริ่มเปลี่ยนแปลง การดูวีดีโอเพื่อให้เข้าใจในสินค้าบริการที่กำลังสนใจกำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของ VDO Platform เช่น TikTok, Netflix ฯลฯ
- AR เติบโตอย่างต่อเนื่อง ปัญหา COVID-19 ทำให้หลายคนในโลกไม่สามารถมีพฤติกรรมแบบเดิมได้ การสร้างของเสมือนจริงขึ้นมาให้ผู้ใช้งานทุกคนเข้ามาดูก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ ยกตัวอย่างแบรนด์รถยนต์ JEEP ที่ทำเว็บบางส่วนด้วย AR เพื่อจะให้ผู้ใช้เหมือนนั่งอยู่บนรถจริงๆ
- Scrollytelling หน้ายาวเลื่อนลงเรื่อยๆผู้ใช้เริ่มชิน ทุกคนชินกับการไถนิ้วขึ้นลงพฤติกรรมแบบนี้ตามติดมาตั้งแต่การเล่น Facebook, Instagram, TikTok จึงทำให้ในปัจจุบันการทำหน้าเว็บไซต์แบบยาวๆลงมาเรื่อยๆผู้ใช้เริ่มให้ความสนใจ แต่หน้ายาวอย่างเดียวอาจจะไม่พอเนื้อหาข้อมูลควรจะน่าสนใจไปพร้อมๆกับความยาวของหน้าด้วย
- ออกแบบไปทดสอบไป ไม่มีอะไรดีที่สุด ถ้าจะหาคำว่าดีที่สุดในสมัยนี้อาจจะหาคำนั้นไม่ได้อีกแล้ว เพราะการออกแบบเราควรจะไปโฟกัสเรื่องการใช้งานมากกว่า การแข่งขันสูงขึ้นเวลาคือสิ่งสำคัญการออกแบบในยุคปัจจุบันต้องรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ผลลัพธ์ของการออกแบบในเวลานี้คำที่ออกมาจากปากของผู้ใช้งานว่า ใช้งานได้ดีแล้วสะดวกเข้าใจแล้ว มากกว่าคำว่าสวยแล้ว
- อย่ายึดติดกับเทรนด์มากจนเกินไป เมื่อหลายคนอ่านมาจนถึงข้อนี้อาจจะแปลกใจว่าทำไมพูดเรื่องเทรนด์มาตลอดพอมาถึงข้อนี้กลับบอกว่าอย่ายึดติดกับเทรนด์มากจนเกินไป ถ้ามองย้อนกลับไปดูตั้งแต่ปลายปี 2019 เป็นต้นมาจนถึงตอนนี้ การเปลี่ยนแปลงบนโลกดิจิทัลมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมากๆ เทรนด์ในวันนี้อาจจะดีแต่ในเดือนถัดๆไปอาจจะไม่ดีแล้วก็ได้
สิ่งสำคัญสำหรับการเป็นนักออกแบบหรืออยากจะเข้าใจเทรนด์การออกแบบในยุคปัจจุบัน คือการสังเกตพฤติกรรมของผู้ใช้และเทคโนโลยีควบคู่กันไปด้วย เมื่อพฤติกรรมเปลี่ยนการออกแบบก็เปลี่ยนแปลงแปรผันตามกันไป ไม่เหมือนในยุคก่อนๆที่เทรนด์เปลี่ยนช้า จงตื่นตัวอยู่ตลอดแล้วจะเป็น Digital Designer ที่ดี
Web Content
5 สิ่งที่ต้องปรับตัว เพราะโลกคอนเทนต์เปลี่ยนไวกว่าเดิม
ขจร เจียรนัยพานิชย์
บรรณาธิการบริหาร
Mango Zero, Parents One, RAiNMaker, Thumbsup, MacThai
เทรนด์ของโลกคอนเทนต์ที่จะเปลี่ยนไปในปี 2021
เชื่อว่า 4-5 ปีที่ผ่านมา หลายแบรนด์น่าจะเริ่มเข้าใจแล้วว่าโลกของการโฆษณาเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง การยิง Ads รัวๆ ให้ดาราชื่อดังชูสินค้ายิ้มสวยๆ การจัดอีเวนต์เปิดตัวใหญ่โต อาจจะไม่ได้สร้างยอดขายที่ดีได้แบบสมัยก่อน
ในทางกลับกัน คลิปตลกๆ ของพี่เอ๊ด 7 วิ บวกกับภาพกวนประสาทของเพจบ้านกูเอง กลับทำให้ของขายดีได้เหลือเชื่อ หรือการโปรโมทการท่องเที่ยวของททท. ที่พูดถึงเทรนด์การเที่ยวเมืองรองมาหลายปีแล้ว กลับไม่เท่ากับที่มิ้น I Roam Alone ทำคลิปเดินไปกินไป แต่ดูน่าสนใจน่าพูดถึง
ช่วงหลังหลายแบรนด์เองก็ได้มีการปรับตัว เริ่มสร้างคอนเทนต์สนุกๆ ออกมาให้คนบนโลกออนไลน์ได้สนุกสนานและเข้าถึงแบรนด์มากขึ้น การเกาะกระแส Real-time คอนเทนต์ การจับมือของแบรนด์ A และแบรนด์ B สร้างอะไรสนุกๆ ร่วมกัน หรือการสร้างคอนเทนต์ที่ไม่ใช่แค่ได้ยอดแชร์ แต่สร้างยอดขายเพิ่มเติมได้ด้วย
โลกคอนเทนต์เปลี่ยนไวกว่าเดิมเพราะโควิด-19 และความเหงา
เชื่อว่าหลายท่านคงจะมี Social Media กันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter, Instagram, YouTube และเราก็อยู่กับแพลตฟอร์มเหล่านี้มาเนิ่นนานหลายปี แทบไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง
แต่เรื่องน่าแปลกก็เกิดขึ้น เมื่อโควิด-19 เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนทั้งโลก อุณหภูมิของการรับและการสร้างคอนเทนต์ก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
คอนเทนต์ที่ไว้เสพแก้เหงา กลับเวิร์คอย่างไม่น่าเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นคลิปเต้นหรือการแข่งขันบน TikTok ที่เหมือนจะไม่มีสาระอะไร แต่กลับทำให้เวลาที่ต้องอยู่บ้านนานๆ มีความหมายขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ
หรือแพลตฟอร์มอย่าง Clubhouse ที่ให้เราเปิดห้องพูดคุยประเด็นได้อย่างอิสระ และมีอินฟรูเอนเซอร์รวมถึงสื่อจำนวนมาก สร้างห้องถกประเด็น แชร์ไอเดียดีๆ ก็มาตอบโจทย์ความเหงาในช่วงค่ำ ที่เดิมเราจะไปสังสรรค์กัน แต่ก็ย้ายมาอยู่ใน Clubhouse แทน ทำให้แพลตฟอร์มเหล่านี้เติมโตอย่างก้าวกระโดดมาก
ไม่ต้องพูดถึงแพลตฟอร์มการชมรายการออนไลน์ต่างๆ อย่าง Netflix, Disney+, Apple TV+, VIU, WeTV ที่ต่างแข่งกันสร้างคอนเทนต์ดีๆ ให้คนได้เสพคอนเทนต์แทนการออกไปชมที่โรงหนัง
แค่ปีกว่า เราลองสำรวจตัวเองว่าพฤติกรรมของการเสพคอนเทนต์เราก็เปลี่ยนไปพอสมควรเลยนะ จนเริ่มจำยุคก่อนโควิด-19 ไม่ได้เหมือนกัน และไม่น่าเชื่อว่าเรารู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้ เป็นเรื่องปกติไปแล้ว จนน่าสงสัยว่า จบโควิด-19 แล้ว โลกของการเสพคอนเทนต์จะเป็นอย่างไร
5 สิ่งที่ควรต้องเตรียมปรับตัวสำหรับคนทำคอนเทนต์ปี 2021
- หูตาไว กล้าทดลองทำสิ่งใหม่ๆ อย่าติดกับความสำเร็จเดิม : การทำคอนเทนต์แบบเดิมๆ เริ่มไม่ได้ผลแล้ว คนเริ่มเบื่อกับแพลตฟอร์มเดิมๆ การได้ฟังรายการดีๆ ใน Clubhouse, เห็นคลิป Stories โดนใจบน Instagram Stories หรือการทำ Challenge สนุกๆ บน TikTok อาจจะได้ผลและราคาถูกกว่ายิง Ads หนักๆ แบบเดิมก็เป็นได้
- สร้างผู้ติดตามบนแพลตฟอร์มใหม่ๆ ทำได้ง่ายกว่า เร็วกว่า : ถ้าถามว่าวันนี้แบรนด์จะเปิดเพจเฟสบุ้คใหม่ แล้วอยากให้มีคนตามสักหนึ่งล้านคน ภายในไม่กี่เดือน ก็ต้องบอกว่าเป็นไปแทบไม่ได้ หรือต้องใช้เงินและไอเดียหนักมาก แต่ในทางกลับกัน การเพิ่มยอดผู้ติดตามใน TikTok หรือ Clubhouse อาจจะทำได้ง่ายและเร็ว เพราะคนอยากฟอลคนใหม่ๆ มากกว่าเดิมเยอะ (ลองถามตัวเองว่าปีที่ผ่านมากด like เฟสบุ๊คเพจใหม่ไปกี่เพจ)
- ช่องทางส่งตรงถึงผู้อ่านเริ่มกลับมาแล้ว : การโพสต์คอนเทนต์ลง Social Media แล้วหวังว่าจะเข้าถึงผู้อ่าน เริ่มยากขึ้นและเหนื่อยขึ้นในยุคนี้ ทำให้หลายสื่อหรือหลายแบรนด์ เริ่มกลับมาใช้การส่งข้อมูลแบบโดยตรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Newsletter ผ่านอีเมล์, LINE Official Account หรือการส่งแชทผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ กลับได้ผลคุ้มค่ากว่าและต้นทุนไม่สูงมากนัก
- อาจจะถึงเวลาต้องเลือกแพลตฟอร์มหลัก : เป็นไปได้ยากที่เราจะมีคอนเทนต์ดีๆ ในทุกแพลตฟอร์ม แม้แต่อินฟรูเอนเซอร์ชื่อดัง ต่างก็เลือกช่องทางหลักไม่กี่ช่องทางในการสื่อสารกับผู้ติดตาม เราอาจจะต้องเลือกว่าผู้อ่านของเราคือกลุ่มไหน และเน้นในแพลตฟอร์มหลักที่พวกเขาอยู่กัน
- อย่าลืมกลับมาดูเป้าหมายหลักของการทำคอนเทนต์ : มีคนเคยกล่าวไว้ว่า “ยอด 10,000 แชร์ 1,000,000 รีช จะไม่มีความหมายอะไรเลย ถ้าสุดท้ายคนจำไม่ได้ว่าใครทำคอนเทนต์นี้ หรือไม่ได้ช่วยแบรนด์เราเลยแม้แต่อย่างเดียว” เพราะงั้นก่อนทำคอนเทนต์ ควรกลับมาดูว่าคอนเทนต์ตัวนี้ ตอบโจทย์สิ่งที่เราตั้งเป้าหมายไว้หรือเปล่า ถ้าอยากให้คนซื้อของ คอนเทนต์นี้สร้างยอดขายได้ไหม หรือถ้าอยากให้คนอ่านแล้วสนุก ให้รู้สึกว่าแบรนด์เราขี้เล่นนะ ต้องดูว่าคอนเทนต์นี้คนรู้หรือเปล่าว่าเป็นแบรนด์ของเรา เป็นต้น
Web Marketing
เริ่มได้แล้วก่อนตกเทรนด์ Voice – Data- Automation
ปภาดา อมรนุรัตน์กุล
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท อัพเลเวลโกล จำกัด
ว่ากันด้วยเรื่อง Marketing Trends ที่น่าจับตามองของ ปี 2021 เริ่มกันตั้งแต่ต้นปี ที่มีเกิดกระแสแรงมากๆ ที่ทำให้นักการตลาดทุกคนต้องหันไปจับตามองกันเลย นั่นก็คือ เรื่องของ Voice แต่นอกจาก Voice แล้ว เรายังคงเห็น Trends ที่เป็นกระแสมาในหลายปีที่ผ่านมา นั้นคือ Automation Marketing นอกจากนี้ ถ้าพูดถึง Marketing Trend จะไม่พูดถึง Data Marketing คงไม่ได้แน่ๆ และนี่คือ 3 Marketing Trends ที่บอกเลยว่า เราต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในปี 2021 นี้
Voice
เรื่องของ Voice เราเคยได้ยินได้ฟังมาช่วงนึงแล้ว แต่ปีนี้ จะเป็นปีที่การทำตลาดด้วยเสียงมีความแรงและดังมากขึ้น เริ่มตั้งแต่ Voice Content ซึ่งเริ่มฮิตขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน ที่มีการฮิตทำ podcasts ออกมา โดยเราสามารถเลือกฟังได้ ทั้งความบันเทิง ความรู้ บทสัมภาษณ์ ประหนึ่งเหมือนเราได้อ่านหนังสือสักเล่ม ด้วยการฟัง แต่ podcasts นั้น คนส่วนใหญ่ มักจะเป็นผู้ฟังได้อย่างเดียว ไม่มีการโต้ตอบ หรือ interact กับสิ่งที่ฟัง แต่ก็ทำให้หลายๆ คนสามารถสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ได้ด้วยการสร้างช่อง podcasts ของตัวเอง แล้วเล่าข่าว หรือ เล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เราเชี่ยวชาญ จนมีผู้ติดตามฟังกันอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งในปีนี้มีแพลตฟอร์ม Voice ตัวใหม่แจ้งเกิดด้วย นั่นก็คือ Clubhouse ซึ่งเป็น application หนึ่งบน iOS แน่นอน brand ใหญ่ๆ รวมถึงนักการตลาด ต่างเข้าไปจับจองพื้นที่สื่อนี้ เพื่อการทำการตลาด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ การรับฟังความคิดเห็นของลูกค้า การสัมภาษณ์งานเพื่อดูวิสัยทัศน์และ การแก้ปัญหาของผู้สมัครงาน ก็มีให้เห็นได้ เพราะ Clubhouse เป็น Voice Platform ที่มีลักษณะ ให้ผู้ฟังสามารถขึ้นมาเป็นผู้พูด หรือแสดงความคิดเห็นต่างๆ ได้ผ่านเสียง จึงไม่แปลกเลยที่ปี 2021 คอนเทนท์เสียง เป็นช่องทางการสื่อสารที่เป็นดาวรุ่งพุ่งแรง
แต่ถ้าพูดถึงการทำ Voice Marketing เราก็จะต้องนึกถึงการสั่งงานด้วยเสียง ซึ่งในปีที่ผ่านมา การเข้ามาของ Nest Mini (Google Home mini) ก็เรียกเสียงฮือฮา จากคนไทยสาย tech กันไปไม่ใช่น้อย แถมจะเรียกได้ว่า ใครไม่มีถือว่าเชยกันเลยทีเดียว แว่วมาว่า จริงๆ แล้ว ในปีนี้ ปีหน้า เราจะได้เห็นการสั่งการด้วยเสียงในผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากยิ่งขึ้น ดังนั้นนอกจากการทำ Search Engine Optimization นักการตลาดจึงต้องเตรียมการให้สินค้าและบริการของคุณสามารถค้นหาด้วยเสียงได้โดยง่ายอีกด้วย (Voice Search Optimization)
Automation Marketing
อีก Trends ที่มาแรงไม่แพ้กันเลยคือ การทำการตลาดแบบอัตโนมัติ (Automation Marketing) ซึ่งก็แน่นอนว่า เรื่องนี้ ก็ถูกพูดถึงกันมาหลายปีแล้วอีกเช่นกัน แต่ทำไมมันถึงมาแรงในปี 2021 นี้
ทั้งนี้เพราะการทำ Automation marketing นั้น ต้องอาศัยเทคโนโลยี เข้ามาช่วยเสริม เพื่อสามารถทำการตลาดได้อย่างราบรื่น ช่วยในการประหยัดการใช้แรงงานคน ไปได้อย่างมหาศาล ที่เห็นกันชัดๆ เลย คือ การใช้ Chatbot ในการสื่อสารกับลูกค้า โดยบางแห่งนั้น มีสื่อ social media ทุก platform แต่ในทุก plateform นั้น ไม่มีเจ้าหน้าที่ที่เป็นคนจริงๆ ในการคุยกับลูกค้าเลย ใช้เพียง Chatbot เท่านั้น ซึ่ง Chatbot นี้ อาจจะทำหน้าที่ในการตอบคำถาม ข้อสงสัย หรือ สามารถจองเข้าใช้บริการในร้านต่างๆ ได้อีกด้วย ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่ทำ Automation Marketing มาแรงมากๆ คือ การเก็บข้อมูลเพื่อนำไปใช้ในการคิดวิเคราะห์ แล้วทำการตลาดกับกลุ่มลูกค้าได้อย่างถูกต้อง หรือที่เราเรียกกันว่า Data Marketing หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องก็คือ Data Marketing เป็น subset หนึ่งของการทำ Automation Marketing เพราะการทำ Automation Marketing นั้น ไม่ได้มีแค่การวิเคราะห์ข้อมูลเพียงเท่านั้น บางครั้ง มันก็ต้องอาศัย ระบบ AI, Machine Learning หรือ IOT เข้ามาเสริมด้วย เพื่อให้ครบองค์ประกอบในการทำ Automaiton Marketing เช่น ระบบแจ้งเตือนเมื่อของในตู้เย็นใกล้หมดอายุ ที่ระบบจะแจ้งเตือน หรือบางครั้ง สามารถสั่งซื้อสินค้าที่กำลังจะหมดให้อย่างอัตโนมัติ
และบางครั้ง การทำ Automation Marketing ทำให้ธุรกิจสามารถ scale หรือเติบโตเพิ่มยอดขายขึ้นได้ เช่น ร้านอาหารที่ใช้สายพานในการจัดส่งอาหาร และรับ order ผ่านทางระบบ ซึ่งการแบบนี้ แน่นอนว่า จะช่วยให้เราใช้ พนง. เสิรฟ์ลดลงแม้ร้านจะมีขนาดใหญ่ อีกทั้งลดการผิดพลาด หรือตกหล่นจากรายการสินค้าที่ลูกค้าสั่งอีกด้วย ระบบพวกนี้ ช่วยให้เราประหยัดต้นทุนไปได้ในระยะยาว จาก 1 ร้าน ที่ต้องใช้พนง. 20 คน เปลี่ยนเป็นการใช้ระบบแทน จะใช้ลดพนง. ลงไปได้เหลือเพียง 2 คน อีกทั้งการสั่งอาหารผ่านระบบ ทำให้สามารถเก็บข้อมูลได้ว่า แต่ละโต๊ะ นิยมกินอาหารประเภทใดมากที่สุด แล้วเฉลี่ยต่อคน กินไปทั้งหมดกี่จาน เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อได้ข้อมูล data ทั้งหมดมาแล้ว ร้านค้าแต่ละร้าน ก็สามารถจะคำนวณวัตถุดิบที่จะใช้ในแต่ละวัน หรือใช้ในการกำหนดราคาสินค้า หรือจัดหาวัตถุดิบที่คนนิยมกินมากที่สุด เพื่อจัดหาเมนูใหม่ๆ เพิ่ม เพื่อเรียกลูกค้าได้ในอนาคตอีกด้วย ถือเป็นการทำ Marketing ครบวงจรกันเลยทีเดียว
และนี่คือ การตลาดที่มาแรง และต้องจับตาให้มากเป็นพิเศษในปี 2021 นี้ คุณล่ะ.. พร้อมรับมือกับการตลาดในรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นนี้แล้วหรือยัง?